คำอธิบายการจัดตั้งเว็บบล็อกนี้

เนื่องด้วยบล็อกนี้ เป็นบล็อกที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านการศึกษา โดยผู้จัดทำบล็อกได้นำข้อความ บทความ หรือเรื่องราวต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ โดยผู้จัดทำบล็อกไม่ได้ต้องการที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้เขียนที่เป็นเจ้าของผลงานแต่ละท่าน โดยผู้จัดทำบล็อกได้เห็นถึงคุณค่าผลงานของท่าน ว่า มีคุณค่าทางการศึกษาเป็นอย่างมาก จึงได้เผยแพร่ผลงานของท่าน พร้อมกับอ้างอิงแหล่งที่มาของเจ้าของผลงานแต่ละท่าน เพื่อเป็นการให้เกียรติ
กระผมจึงขอกราบขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน ที่กระผมได้นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้ และขอให้ผลงานของท่านเหล่านี้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการศึกษา และผู้ที่สนใจศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ เป็นอย่างยิ่ง ขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงคุ้มครองผู้มีพระคุณในครั้งนี้ให้มีความสุข ความเจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบพระคุณมากๆ ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หลักและวิธีการประเมินตามสภาพจริง

หลักและวิธีการประเมินตามสภาพจริง

        เอกรินทร์ สี่มหาศาล และ สุปรารถนา ยุกตะนันทน์ (2546: 13 – 20) ได้เสนอแนวคิดสำคัญเกี่ยวข้องกับหลักและวิธีการประเมินตามสภาพจริงไว้ ดังนี้

        1. การแสดงความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคล การประเมินตามสภาพจริง จึงเป็นวิธีการประเมินที่ต้องการกระทำอย่างต่อเนื่อง และเป็นวิธีการประเมินที่เน้นงานที่ผู้เรียนแสดงออกในภาคปฏิบัติ (Performance) เน้นการสังเกต กระบวนการเรียนรู้ (Process)ที่ผู้เรียนสามารถเลือกใช้ในการลงมือปฏิบัติงาน เน้นคุณภาพของผลผลิต (Product) ที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้สำเร็จตามศักยภาพของตน และประเมินจากแฟ้มรวบรวมผลงาน (Portfolio)ที่สะท้อนให้เห็นถึงสัมฤทธิผล และความก้าวหน้าทางการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตลอดช่วงชั้นของหลักสูตร

        2. การบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอย่างแท้จริง จุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับชั้นจะกำหนดให้ผู้เรียนเกิดความสามารถทั้งในด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ  และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในแต่ละด้านตามธรรมชาติการเรียนรู้ของแต่ละวิชา ใช้วิธีการประเมินตามสภาพจริง ผู้สอนต้องสังเกต จดบันทึก และรวบรวมข้อมูลจากผลงาน และวิธีการเรียนรู้สู่วิธีปฏิบัติของผู้เรียนตลอดเวลา โดยยึดถือพฤติกรรมบ่งชี้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน (Instruction) และการประเมินการเรียนรู้ (Assessment) ตามพฤติกรรมที่คาดหวัง และจะต้องกระทำไปพร้อมๆ กัน โดยไม่แยกการสอนกับการประเมินผลออกจากกัน และต้องดำเนินการตรวจสอบผลการเรียนรู้ของผู้เรียนกับพฤติกรรมที่คาดหวังของหลักสูตรทุกระยะ จึงถือว่า เป็นความสำเร็จของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรที่สถานศึกษาสร้างขึ้น ความสัมพันธ์ของหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผล ต้องดำเนินการควบคู่ไปในกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการใช้วิธีประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียน

        3. การบูรณาการวิธีการและเครื่องมือในการประเมิน หลักการสำคัญที่ท้าทายและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถออกมาตามสภาพจริงนั้นต้องอาศัยการบูรณาการความรู้กับวิธีการ และกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธี ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถเช่น นำเสนอผลงานสาธิต เขียนสรุป เขียนรายงาน หรือชี้แจงด้วยปากเปล่า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้สอนสามารถสังเกตความก้าวหน้าตามสภาพจริงของผู้เรียนแต่ละคนได้การเรียนที่ผู้เรียนมีโอกาสแสดง หรือสาธิตให้ผู้สอนและเพื่อนๆ ได้รับทราบถึงสิ่งที่เขาลงมือกระทำ และแสดงผลจากการปฏิบัติได้ มีขั้นตอนการปฏิบัติจนสำเร็จได้ เราจึงเรียกได้ว่า เป็นการประเมินตามสภาพจริง ในการวัดและประเมินผล ผู้สอนต้องเลือกสรรเครื่องมือและวิธีการประเมินอย่างหลากหลายต้องใกล้ชิดผู้เรียนเพื่อสังเกต สอบถาม รวบรวมเอกสาร
ตัวอย่างงาน และสรรหาวิธีที่สามารถกระตุ้นผู้เรียนใหเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถบอกได้ว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง เรียนรู้อย่างไร สามารถบูรณาการสิ่งที่เรียนรู้เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และสามารถเชื่อมโยงผลการเรียนรู้ไปสู่ชีวิตจริง โดยนำสิ่งที่เรียนรู้ไปสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้อื่นๆ ด้วยตัวเองได้หรือไม่ ซึ่งการประเมินในประเด็นเหล่านี้ เป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรบูรณาการ และหลักการประเมินผลตามสภาพจริงที่เน้นผลการเรียนรู้(Outcome Based) ที่ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้ และสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองแทนการจดจำความรู้ที่ผู้สอนคอยป้อนให้

        4. การสะท้อนความสามารถด้านต่างๆ และการประเมินระดับความสามารถที่เป็นจริง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 มุ่งหวังให้ผู้เรียนเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์สังคม และมีคุณธรรม มีจริยธรรม วัฒนธรรมอันดีงามในการดำรงชีวิต และมีเป้าหมายหลักของการจัดการเรียนรู้ คือ การสร้างปัญญาระดับสูงให้ผู้เรียนมีความรู้ความสนใจในสรรพสิ่งตามความเป็นจริงเป็นผู้รู้จริง รู้รอบ รู้ลึก รู้สำนึกในสิ่งที่ควรรู้ มีปัญญาอันเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์และวิธีการต่างๆ จนเกิดปัญญาจากการตรวจสอบด้วยตัวเอง ไตร่ตรองด้วยตนเอง และเกิดปัญญาจากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิตจริงในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้เรียนต้องอาศัยทักษะทางสติปัญญา (Intellectual Skill) เช่น ทักษะการคิด การตัดสินใจ ทักษะการวางแผน(Cooperative Planning) และทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) ที่จัดเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันที่เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร และสังคมแห่งการเรียนรู้
ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดผลให้ตรงตามพฤติกรรมที่
คาดหวังและครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการประเมิน ทั้งด้านทักษะพิสัยและจิตพิสัย

        5. ส่งเสริมการเรียนรู้จากสภาพจริง (Authentic Assessment) การประเมินตามสภาพจริงของผู้เรียน จะต้องประเมินทั้งจากการปฏิบัติ (Performance Assessment) โดยสังเกตพฤติกรรมการทำงานของผู้เรียนว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่ผู้สอนคาดหวังหรือไม่ และต้องประเมินจากสภาพจริง ที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ และแสดงพฤติกรรมในบริบทของความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน (Real Life Context) ซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic  Learning) ถ้าผู้เรียนสามารถแสดงพฤติกรรมสนองตอบได้อย่างมีคุณภาพ ก็เป็นการยืนยันถึงความสำเร็จที่ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ตามที่ผู้สอนจัดขึ้นในชั้นเรียน โดยบูรณาการเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตจริง และสังคมจริงของผู้เรียนได้ตามเจตจำนงของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

อ้างอิง
เอกรินทร์ สี่มหาศาล; และ สุปรารถนา ยุกตะนันทน์. (2546). การออกแบบเครื่องมือวัดและ
ประเมิน ตามสภาพจริง. กรุงเทพฯ: บุ๊ค พอยท์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น