คำอธิบายการจัดตั้งเว็บบล็อกนี้

เนื่องด้วยบล็อกนี้ เป็นบล็อกที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านการศึกษา โดยผู้จัดทำบล็อกได้นำข้อความ บทความ หรือเรื่องราวต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ โดยผู้จัดทำบล็อกไม่ได้ต้องการที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้เขียนที่เป็นเจ้าของผลงานแต่ละท่าน โดยผู้จัดทำบล็อกได้เห็นถึงคุณค่าผลงานของท่าน ว่า มีคุณค่าทางการศึกษาเป็นอย่างมาก จึงได้เผยแพร่ผลงานของท่าน พร้อมกับอ้างอิงแหล่งที่มาของเจ้าของผลงานแต่ละท่าน เพื่อเป็นการให้เกียรติ
กระผมจึงขอกราบขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน ที่กระผมได้นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้ และขอให้ผลงานของท่านเหล่านี้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการศึกษา และผู้ที่สนใจศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ เป็นอย่างยิ่ง ขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงคุ้มครองผู้มีพระคุณในครั้งนี้ให้มีความสุข ความเจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบพระคุณมากๆ ครับ

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสำคัญของเจตคติ

ความสำคัญของเจตคติ(Attitude)

                เพราพรรณ  เปลี่ยนภู่ (2540) กล่าวว่า  เจตคติ หรือ ทัศนคติ  เป็นความรู้สึกของบุคคลต่อความนึกคิดซึ่งความรู้สึกนี้ค่อนข้าวจะแน่นอน  มีทิศทางการแสดงออกให้เห็นว่าเขายอมรับ  หรือไม่ยอมรับวัตถุหรือบุคคลนั้นๆ ทัศนคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้  แต่ค่อนข้างยาก  เพราะความรู้สึกนี้ค่อนข้างจะแน่นอนและเป็นความรู้สึกที่สร้างจากการมองความสัมพันธ์ว่า  สิ่งนั้นหรือคนนั้นดีหรือไม่ดีต่อตัวเรา  ซึ่งความรู้สึกนี้มีอิทธิพลทำให้เรายอมรับ  หรือไม่ยอมรับสิ่งนั้นด้วย  ดั้งนั้น  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  จึงเปลี่ยนแปลงได้ยากจะต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตัวบุคคลนั้น  เช่น  ความนึกคิด  อารมณ์  ประสบการณ์ ฯลฯ ของบุคคลนั้น  โดยปกติการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  มีผลกระทบกระเทือนคนอื่นๆ  ในสังคม  เพราะการจะมี  “ทัศน”  ต่อสิ่งใด  มักจะเอาทัศนของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

                ลักขณา  สริวัฒน์ (2549) กล่าวว่า เจตคติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่งของพฤติกรรม  ซึ่งสรุปความสำคัญได้ ดังนี้

1.  เจตคติเป็นมโนมติที่ครอบคลุมปรากฏการณ์หลายอย่างได้  เช่น  ความรักของบุคคลที่มีต่อครอบครัวก็สรุปรวมถึงพฤติกรรมหลายอย่างของบุคคลได้   ในการใช้เวลากับครอบครัวมาก ดูแลสมาชิกในครอบครัวทำสิ่งต่าง ๆ ให้สมาชิกในครอบครัว  ตลอดจนถึงให้การดูแลเอาใจใส่  และปลอบใจสมาชิกในครอบครัว

2.  เจตคติเป็นสาเหตุของพฤติกรรม  นักจิตวิทยาสังคมจำนวนมากเชื่อกันว่า  เจตคติเป็นสาเหตุของพฤติกรรม  จึงได้พยายามทำการวิจัยเพื่อแสดงหลักฐานให้เห็น และก็มีหลักฐานมาสนับสนุนพอสมควร แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงว่าพฤติกรรมเป็นสาเหตุของเจตคติได้เช่นกัน   การที่มีงาน วิจัยเกิดขึ้น  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักจิตบำบัด นักพฤติกรรมบำบัด ผู้แนะแนว หรือครูแนะแนว และครูโดยทั่วไป

3.  เจตคติมีความสำคัญในตัวเอง ไม่ว่าเจตคติของบุคคลจะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเขาหรือไม่ก็ตาม  เช่น  เจตคติต่อสถาบันต่าง ๆ  สะท้อนให้เห็นแนวทางที่เขารับรู้โลกรอบตัวเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญน่าศึกษาในตัวเอง

4. เจตคติเป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาหลายสาขาสนใจร่วมกัน นอกจากนักจิตวิทยาสังคมที่สนใจศึกษาเรื่องเจตคติแล้วนักจิตวิทยาสาขาอื่น ๆ  ก็สนใจในเรื่องเจตคติเช่นเดียวกัน  เช่น  นักจิตวิทยาคลินิก อาจสนใจศึกษาเจตคติที่บุคคลมีต่อตนเอง เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจในเรื่องอื่น ๆ หรือนักจิตวิทยาบุคลิกภาพก็สนใจว่าการเปลี่ยนเจตคติวิธีใดได้ผลกับบุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นไร  เป็นต้น

5. เจตคติเป็นเรื่องที่นักโฆษณาประชาสัมพันธ์สนใจ นักโฆษณาประชาสัมพันธ์สนใจเรื่องเจตคติทั้งในแง่ของการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน  เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อต้านการค้ายาบ้า โฆษณาให้คนไทยนิยมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น

6.เจตคติเป็นเรื่องที่นักการตลาดสนใจ โดยมีความสนใจว่าเจตคติของบุคคลมีต่อแง่มุมใดที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เขาซื้อ สินค้านั้น ๆ มาใช้  เช่น  เจตคติต่อชื่อสินค้า  เจตคติต่อยี่ห้อสินค้าหรือเจตคติต่อตัวสินค้าเอง เป็นต้น

7.  เจตคติเป็นเรื่องที่นักรัฐศาสตร์สนใจ  นักรัฐศาสตร์สนใจเจตคติของประชาชนต่อเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางการเมืองการปกครอง เช่น เจตคติของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล เจตคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร  เป็นต้น

8. เจตคติเป็นเรื่องที่นักสังคมวิทยาบางสาขาสนใจ จะมีนักสังคมวิทยาเพียงบางสาขาเท่านั้นที่สนใจในเรื่องเจตคติ  คือ  สาขาจิตวิทยาสังคม  ซึ่งนักสังคมวิทยาบางคนเห็นว่า  เจตคติเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมทางสังคมเนื่องจากมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมในเรื่องต่าง ๆ ผ่านเจตคติของบุคคลในวัฒนธรรมนั้น ๆ


9. เจตคติเป็นเรื่องที่นักการศึกษาสนใจ นักการศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องเจตคติได้มากมายในลักษณะการศึกษาวิจัย  ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น  นักแนะแนวอาจสนใจศึกษาเจตคติของนักเรียนต่ออาชีพต่าง ๆ เพื่อนำข้อความรู้นี้ไปเป็นพื้นฐานในการแนะแนวอาชีพให้แก่  นักเรียนได้อย่างมีหลักเกณฑ์จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของเจตคติดังกล่าวข้างต้น  สรุปได้ว่า  เจตคติมีความสำคัญต่องาน และอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ครูควรศึกษาเจตคติของนักเรียนทีมีต่อวิชาที่เรียน หรือต่อครูผู้สอน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาพฤติกรรมทางการเรียนของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิงจาก
เพราพรรณ เปลี่ยนภู่.  2542. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพ ฯ: พัฒนาศึกษา.
ลักขณา สริวัฒน์. 2549. จิตวิทยาในชีวิตประจําวัน. พิมพ์ครังที 2. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น